องค์กรสีขาว แก้สุขภาวะทางอารมณ์ ปลดปมปัญหายาเสพติด ซีพีเอฟ จับมือ กรมคุ้มครองแรงงานฯ ปูฐานรากองค์กรโตได้ไกลอย่างยั่งยืน

by ESGuniverse, 20 เมษายน 2567

ซีพีเอฟ ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน-ปปส. เดินหน้าเป็นองค์กรต้นแบบ ‘องค์กรสีขาว เพื่อย่างก้าวที่ยั่งยืน’ กำกับฟาร์มและโรงงาน ของซีพีเอฟกว่า 437 แห่งทั่วไทย รับรองโรงงานสีขาว หาโมเดล ลด ละ เลิก เสพยา สร้างระบบนิเวศสังคมคุณภาพชีวิตดี เศรษฐกิจยั่งยืน

 

 

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ย้ำทุกหน่วยงานต้องร่วมมือแก้ไขปัญหา บังคับใช้กฎหมายยาเสพติดอย่างจริงจัง จึงได้เกิดการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) ‘องค์กรสีขาว เพื่อย่างก้าวที่ยั่งยืน’ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

ด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นตอ ตัดตอนผู้ค้าด้วยการนำผู้เสพมาบำบัดและให้โอกาสในการทำงานต่อไป ตามหลักธรรมาภิบาลและหลักสิทธิมนุษยชน สร้างงาน สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้แก่พี่น้องโรงงานจำนวนหลายล้านคนในประเทศไทย

การลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ‘องค์กรสีขาว เพื่อย่างก้าวที่ยั่งยืน’ ระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ก่อให้เกิดพลังที่เข้มแข็งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน

 ดันเป็นต้นแบบสถานประกอบกิจการปลอดยาเสพติดที่ดี

โดยมีเป้าหมายภายในปีพ.ศ. 2567 นี้ ฟาร์มและโรงงาน ของซีพีเอฟกว่า 437 แห่งทั่วไทยผ่านการรับรองโรงงานสีขาว ด้วยการดำเนินงานมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) ขับเคลื่อนต้นแบบองค์กรเอกชนปลอดยาเสพติด หนุนสร้างสังคมเข้มแข็ง เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึก ข้อตกลง (MOU) พร้อมกับมอบธงนำร่องสถานประกอบกิจการผ่านเกณฑ์โรงงานสีขาว และการดำเนินงานมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) แก่นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ และผู้บริหารบริษัทในกลุ่มซีพีเอฟ โดยมีนางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานและซีพีเอฟร่วมด้วย

  

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การแพร่ระบาดของยาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญที่ทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง รวมไปถึงคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบ ต่อการจ้างงาน สุขภาพ คุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบาย "เร่งรัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน"

“มุ่งหวังเป้าหมายที่ต้องการจะตอบโจทย์บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG : Sustainable Development Goals) แห่งสหประชาชาติ เพื่อการสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม มุ่งบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี”

ประสานกระทรวงแรงงาน ดูแลสุขภาวะอารมณ์พนักงาน

กระทรวงแรงงาน ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้สถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้าง จัดทำระบบการจัดการด้านยาเสพติดในสถานประกอบกิจการผ่านโครงการโรงงานสีขาวที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีการเข้าไปดูแลสุขภาพและสุขภาวะทางอารมณ์

ซึพีเอฟ ยก โรงงาน 437 แห่งทั่วไทย ต้นแบบห่างไกลยาเสพติด
ภายใต้ความร่วมมือของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จำนวน 437 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ เพื่อคืนคนดีสู่สังคม

 

 

โดยนายพิพัฒน์ได้กล่าวซื่นชมบริษัทซีพีเอฟ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหายาเสพติด มีระบบบริหารจัดการให้สถานที่ทำงานเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจากยาเสพติด ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานและครอบครัว เป็นต้นแบบที่ดีขององค์กร เพื่อเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน ดูแลลูกจ้างให้ลูกจ้างของซีพีเอฟปลอดภัยจากยาเสพติด และให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่เป็นผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดให้ได้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและกลับคืนสู่สังคม มีความพร้อมที่จะรับกลับเข้าทำงาน เป็นกำลังแรงงานที่มีศักยภาพในการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างต่อไป

พบพนักงานติดยาไม่ตัดโอกาสไล่ออก
ช่วยวางแผนการออม

โดยทางกระทรวงแรงงานก็ได้มีการหารือกับพี่น้องผู้ประกอบการเมื่อตรวจเจอผู้เสพยาเสพติด ก็ให้โอกาสแก่ลูกจ้าง อย่าไล่ออก เพราะหากไล่ออกแล้วบุคคลนั้นจะไม่มีทางไป และอาจจะมีการผันตัวจากผู้เสพเป็นผู้ค้า เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการระงับไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านั้น โดยการนำผู้เสพมาบำบัด

“ผมไม่ทราบว่าแต่ละท่านได้เงินเดือนเท่าไหร่ หรือได้ค่าแรงวันละเท่าไหร่ เพราะสถานประกอบการแต่ละแห่งให้ค่าแรงไม่เท่ากัน แต่แน่นอนส่วนหนึ่งที่ท่านจะต้องเสียไป ก็คือ ท่านต้องเจียดเงินส่วนหนึ่งไปซื้อยา เพราะฉะนั้นหากท่าน ลด ละ เลิก ยาเสพติด ท่านก็จะเหลือเงินส่วนนี้เป็นเงินออมสำหรับช่วงที่ท่านเกษียณอายุ“

 

 

 

เครือข่ายโรงงานสีขาว 6 หมื่นแห่ง พร้อมจับมือต้านยาเสพติดในที่ทำงาน

นางโสภา เกียรตินิชชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการโรงงานสีขาว ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการและผ่านเกณฑ์โรงงานสีขาว จำนวน 60,094 แห่ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 5,529,422 คน การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสติด

‘องค์กรสีขาว เพื่อย่างก้าวที่ยั่งยืน’ จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการตกลงความร่วมมือกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ

ซึ่งแสดงถึงพลังความร่วมมือในการป้องกันปัญหายาเสพติดและผลักดันโครงการ "โรงงานสีขาว" และมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) ให้ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม และเป็นต้นแบบของสถานประกอบกิจการอื่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการเพื่อให้ลูกจ้างมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

 

 

ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า พนักงานเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัทฯบรรลุวิสัยทัศน์การเป็นครัวของโลก ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง การลงนามบันทึกความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ‘ขับเคลื่อนองค์กรสีขาว เพื่อย่างก้าวที่ยั่งยืน’ กับกรมสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นการประกาศเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการต่อต้านยาเสพติด

นำหลักเกณฑ์และแนวทางของโรงงานสีขาว และการดำเนินงานมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) นำมาปฏิบัติ ส่งเสริมแบบจริงจังอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาสถานประกอบการของซีพีเอฟ กว่า 437 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นองค์กรที่ปลอดจากยาเสพติด ซึ่งครอบคลุมพนักงานทั้งคนไทยและพนักงานจากประเทศเพื่อนบ้านกว่า 70,000 คน โดยการตั้งเป้าหมายภายในปีนี้ สถานประกอบกิจการทุกแห่งในประเทศไทย ได้รับการรับรองโรงงานสีขาวและมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) ร่วมสร้างความยั่งยืนขององค์กร ชุมชนและประเทศต่อไป

 

 

 

ปรัชญา 3 ประโยชน์
สู่สวัสดิภาพพนักงาน

นายประสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน และภาคีเครือข่ายพัฒนาสถานประกอบกิจการของบริษัทฯทุกแห่งทั่วประเทศ ถือเป็นต้นแบบองค์กรดูแลพนักงานทุกคน และชุมชนรอบข้างมีภูมิคุ้มกันห่างไกล สนับสนุนสังคมไทยมีความเข้มแข็งและเศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง สอดคล้องกับหลักปรัชญาสามประโยชน์สู่ความยั่งยืนที่ผู้บริหารและพนักงานซีพีเอฟยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นลำดับแรก ประโยชน์ของประชาชนเป็นลำดับที่สอง และประโยชน์ของบริษัทเป็นลำดับสุดท้าย

“ปรัชญาสามประโยชน์เป็นความภูมิใจของซีพี สู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนองค์กรปลอดยาเสพติดและเป็นโรงงานสีขาว ตามโครงการ ‘ซีพีเอฟ องค์กรสีขาว เพื่อย่างก้าวที่ยั่งยืน’ โดยให้ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปฎิบัติตามแนวทางปฎิบัติที่ดี เคารพหลักสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่การให้ความรู้ความเข้าใจให้พนักงานมีความตระหนักและร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายด้านยาเสพติดอย่างจริงจัง “

การอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการเป็นเกราะป้องกันไม่ให้พนักงานมีความเสี่ยงไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพดิด รวมทั้งมีนโยบายช่วยเหลือพนักงานในการบำบัดรักษาและ ฟื้นฟู และให้โอกาสพนักงานที่รักษาหายสามารถกลับมาทำงานกับองค์กรได้ เพื่อสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการทุกแห่งของซีพีเอฟปลอดจากยาเสพติด เป็นสมาชิกที่ดีและอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข มั่นคงและยั่งยืน